Tencent บริษัทเทคจีน เจ้าของแอปครอบจักรวาล ที่กำลังกลับมาอย่างเงียบๆ เบาๆ เบาเกิ้นนนน [REVIEW]
เกมส์ RoV, Honor of Kings, PUBG, Valorant แอปพลิเคชั่น WeChat ต่างเป็นส่วนหนึ่งในอีกหลายสิบแพลตฟอร์มครอบจักรวาลจาก Tencent บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่สัญชาติจีน ซึ่งช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาบริษัทเจอมรสุมจากมาตรการกำกับของรัฐบาลจีน ทำให้หายไปจากหน้าสื่อการลงทุน แต่จริงๆแล้วขอบอกว่า Tencent กำลังกลับมาอย่างเงียบๆทั้งราคาหุ้นและผลประกอบการ วันนี้เราไปอัพเดตและขุดดูกันหน่อยว่าต่อจากนี้ Tencent จะเติบโตต่อไปในทิศทางไหน?
ธุรกิจของ Tencent - Leader ในทุก Segment ไม่ต้องห่วงเรื่องความแข็งแกร่ง
Tencent บริษัทเทคขนาดใหญ่จากจีนมูลค่าประมาณ 473,930 ล้านดอลลาร์ ก่อตั้งเมื่อปี 1998 โดย Ma Huateng (Pony Ma) ที่เป็นประธานและ CEO คนปัจจุบัน เริ่มต้นด้วยผลิตภัณฑ์แรกที่เป็นโปรแกรมสื่อสารบน PC ชื่อ QQ ซึ่งเป็นรากฐานพัฒนาต่อเป็นแอปที่มีหลากหลายผลิตภัณฑ์ เช่น Social Network, Gaming, Online Shopping, Entertainment Media ที่เรารู้จักกันในชื่อว่า WeChat (Weixin)
เป็นที่รู้กันว่าอีกตลาดที่ Tencent โดดเด่นและให้ความสนใจ คือ Gaming ลุยทั้งพัฒนาเกมส์สำหรับตลาดในประเทศจีนและต่างประเทศ รวมถึงลงทุนในบริษัทเทคโนโลยีมากกว่า 600 บริษัทในพอร์ต
ว่ากันตามตรง Tencent มีแอปบริการทุกอย่างครอบจักรวาล ซึ่งบริษัทแบ่งรายได้ตามผลิตภัณฑ์เป็น 4 กลุ่ม คือ Value-Added Services, Online Advertising, FinTech and Business Services และอื่นๆ
Value-Added Services
มีผลิตภัณฑ์หลักประกอบด้วย Social Network และ Gaming ซึ่งแพลตฟอร์มเรือธงในกลุ่มนี้ที่ทุกคนน่าจะรู้จักก็คือ WeChat ซุปเปอร์แอปที่เปิดตัวในปี 2011 ซึ่งตอนแรกก็เหมือน WhatsApp หรือแอปแชทอื่นๆ เมื่อเวลาผ่านไป Tencent ใส่ฟังก์ชั่นที่มากกว่าแค่การแชทหรือ Social Media
ตอนนี้ WeChat มี Active users อยู่ประมาณ 1,371 ล้านบัญชี เป็นแอปสื่อสารที่มีผู้ใช้มากที่สุดในโลก โดยมี 3 ฟีเจอร์เด่น คือ
Moments: ฟังก์ชั่นของแอปที่เปิดให้ผู้ใช้เขียนและอัพเดตโพสต์ แชร์มีเดีย
WeChat Pay: ฟังก์ชั่น Digital Wallet ตอบโจทย์สังคม Cashless ในประเทศจีน จ่ายได้ทุกอย่างที่ใช้ในชีวิตประจำวัน
Official Accounts: ผู้ใช้ที่เป็นบริษัทหรือร้านค้าสามารถสร้างหน้าร้านค้าอย่างเป็นทางการบน WeChat ซึ่งฮิตมากช่วง COVID-19 ระบาด และกลายเป็นช่องทางจำเป็นที่ร้านค้าต้องมีไปแล้ว
ด้วยความเป็นซุปเปอร์แอปทำให้มีบริการอื่นครบวงจรทั้งไรเดอร์ส่งของ แปลภาษา โปรแกรมตัดต่อรูปภาพ Search Engine (Weixin Search) และ Livestreaming ขายสินค้าที่เป็นกำลังหลักช่วยดันยอดขายสินค้าออนไลน์ (Gross Merchandise Volume) โตอย่างรวดเร็ว
นอกจากนี้ในกลุ่ม Social Network ก็มีบริการเสริมที่เด่นๆ เช่น Tencent Games ที่มีแพลตฟอร์มของตัวเองชื่อ WeGame เปิดตัวเมื่อปี 2017 มีเกมส์ที่ดังในบ้านเราอย่าง PUBG และ VALORANT ขยายกิจการด้วยโมเดลซื้อกิจการ Game Developer มากมายที่ดังๆ เช่น Riot Games เจ้าของเกมส์ League of Legends ถือหุ้น 100%, Epic Games เจ้าของ Fortnite ถือหุ้นประมาณ 40% และอื่นๆที่ถือหุ้นบางส่วนทั้ง Activision Blizzard, Ubisoft
นอกจากนี้ยังมีอีกหลายบริการครบวงจรอื่นทั้ง Tencent Video ทำธุรกิจสตรีมมิ่งที่ชื่อ WeTV, Tencent Music Entertainment ด้วยความร่วมมือกับ Spotify ซึ่ง Tencent ถือหุ้นอยู่ 7.5% ทำแพลตฟอร์มสตรีมเพลงเฉพาะตลาดประเทศจีน
เสริม Ecosystem ให้ทำงานร่วมกันผ่าน Tencent Cloud แถมช่วยหนุนการขยายสเกลธุรกิจ เป็นโครงสร้างพื้นฐานหลังบ้านที่เชื่อถือได้และเชื่อมถึงกันทุกแพลตฟอร์ม แถมยังมีความสามารถสนับสนุนด้าน AI และวิเคราะห์ข้อมูล
Online Advertising
ตรงตามชื่อเลยว่าช่องทางรายได้นี้มาจากการโฆษณาออนไลน์บนแพลตฟอร์มใน Ecosystem ของ Tencent ซึ่งมีคนใช้จำนวนมหาศาล และแพลตฟอร์มที่สร้างการเติบโตให้ Online Advertising มากที่สุด คือ WeChat ล่าสุด Tencent เผยว่าได้อัพเกรดแพลตฟอร์มเทคโนโลยีโฆษณาเพื่อให้ผู้ซื้อโฆษณาสร้างแคมเปญอย่างมีประสิทธิภาพ และมีเครื่องมือโฆษณาที่มี AI อยู่เบื้องหลังให้ใช้
FinTech and Business Services
ให้บริการช่องทางชำระเงิน บริการ FinTech และยังมีบริการอื่นเพื่อเพิ่มความสะดวกให้กับลูกค้าธุรกิจ เช่น Wealth Management, Cloud Services, สินเชื่อ และบริการขนส่ง
อื่นๆ
กลุ่มธุรกิจที่ตกอยู่ในหมวดนี้ Tencent ไม่ได้ให้รายละเอียดว่าครอบคลุมธุรกิจใด ซึ่งกลุ่มนี้สร้างรายได้รวมเพียงแค่ประมาณ 1%
Q2/24 Tencent มีสัดส่วนรายได้จาก
Value-Added Services 48.9%
Social Networks 18.8%
Domestic Games 21.4%
International Games 8.6%
Online Advertising 18.5%
FinTech and Business Services 31.2%
อื่นๆ 1.4%
ทางเพจกำลังเปิดคอร์สหุ้น 10 เด้งรุ่นที่ 2 นะครับ
ใครสนใจดูรายละเอียดและลงทะเบียนได้ที่นี่เลยครับ -> https://bit.ly/tl10x
การเติบโต - ตลาดในจีนโตยากเพราะฐานใหญ่มากแล้ว ต้องไปพึ่งการเติบโตต่างประเทศซึ่งก็ยากเช่นกัน
ช่วง 2-3 ปีที่แล้ว การควบคุมจากทางการจีนกระทบธุรกิจ Gaming ของ Tencent อย่างหนัก แต่ก็เริ่มมีหนทางกลับมาเติบโตอีกครั้งด้วย Minigames ในแอป WeChat ซึ่งเมื่อปี 2023 มีผู้ใช้ MAU ที่ 400 ล้านบัญชี ราว 30% ของ MAU แอป WeChat ดึงดูดทั้งผู้ใช้และผู้พัฒนาเกมส์ด้วย Game engine จาก Unity, Cocos และ Laya ทำให้แพลตฟอร์มมีกราฟฟิกขั้นเทพ
CEO เผยว่ารายได้จาก minigame ปี 2023 เติบโต 50% แถม Retention rate และ Time spent ก็มากกว่าบริการอื่นในประเภทเดียวกัน ซึ่ง minigame เป็นธุรกิจที่มี Margin สูง และบริษัทเองก็มองว่าอาจเป็นธุรกิจที่มีศักยภาพสร้างการเติบโตให้บริษัทได้อีกครั้ง
ล่าสุดการใช้ AI มาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการยิงโฆษณา ซึ่งเริ่มเห็นผลด้านรายได้ที่เพิ่มขึ้น ด้วยการกำหนดเป้าหมายผู้บริโภคที่จะเห็นโฆษณาแม่นยำขึ้น อัตราการคลิกโฆษณาสูงขึ้น และคาดว่ามีลุ้นเติบโตแน่นอน เพราะน็ฌธุรกิจโฆษณามียังมีโอกาสเหลืออยู่ให้ Tencent ขยายธุรกิจอีกมากเมื่อเทียบกับธุรกิจอื่น
เทคโนโลยี Mixed Reality เป็นพื้นที่ที่ Tencent เดินหน้าขยายธุรกิจ และใช้ Playbook เล่มเดิมด้วยการจับมือกับบริษัทเทคฝั่งตะวันตก ซึ่งมีข่าวว่าจะร่วมมือกับ Apple เอาบางแอปเข้าไปใส่ใน Vision Pro เช่น Tencent Video, Tencent Meeting และ Tencent Music
บอกเลยว่า Playbook เล่มนี้ยังใช้ได้อีกมากมายทั้งขยายไปธุรกิจใหม่ในประเทศหรือเดินหน้าตีตลาดต่างประเทศ ก็ต้องอาศัยความร่วมมือไม่ด้านเทคโนโลยีใหม่ก็แพลตฟอร์มเจ้าถิ่นที่มีผู้ใช้จำนวนมากช่วยเปิดทางกันบ้าง
งบการเงินและ Earning Call - กำไรดี แต่ปัญหาคือการเติบโต
Q2/2024 มีรายได้ ที่ RMB 161.1 billion เติบโต 8% (YoY) และ 1% (QoQ) มี Gross Profit Margin ที่ 53.3% เพิ่มจาก Q2/2023 ซึ่งอยู่ที่ 47.48% และ Q1/2024 ที่ 52.58%
Value-Added Services 78.8 billion เพิ่มขึ้น 6% (YoY) แบ่งเป็น
Social Networks 30.3 billion +2% (YoY) จากการเติบโตของ Music, Long-form Video Subscription และ Mini Games platform service fees
Domestic Games 34.6 billion +9% (YoY) จาก Valorant และการ Launch DnF Mobile (Dungeon Fighter)
International Games 13.9 billion +9% (YoY) จาก Performance ที่ดีของ PUBG Mobile
Online Advertising 29.9 billion +19% (YoY) และ +13% (QoQ) โตค่อนข้างดี จากรายได้ Video Accounts และ Long Form Video ในขณะที่ Mobile Ad Network ลดลงจากการลดงบโฆษณาของลูกค้าบางราย
FinTech and Business Services 50.4 billion +4% (YoY) -4% (QoQ) การเติบโตแผ่วลงจาก Consumption ที่ลดลงในภาพรวม
กลุ่มธุรกิจอื่นๆ 2 billion +46% (YoY) และ -4% (QoQ)
ค่าใช้จ่าย SG&A (Operating Expense) อยู่ที่ RMB 36.64 billion ซึ่งพอเทียบ SG&A/Income Q2/24 SG&A/Revenue เท่ากับ 22.74% สูงขึ้นจาก Q1/24 ส่วน Q4/23 อยู่ที่ 24.6% ถึงค่าใช้จ่ายจะเพิ่มซึ่งเป็นปกตินะ แต่รายได้เพิ่มมากกว่า เรียกว่าใช้จ่ายเงินอย่างคุ้มค่า ส่งผลให้ NPM ยังสูงขึ้นได้
Operating Income อยู่ที่ RMB 58.4 billion +27 (YoY) และ -0.3% (QoQ) และมี Net Income ฟื้นตัวชัดออกมาที่ RMB 48.4 billion เพิ่มขึ้น 79% (YoY) และ 13% (QoQ) ส่งผลให้ Net Income Margin ใน Q2/24 เพิ่มมาที่ 29.56% จาก Q2/23 ที่ 17.54% และ Q4/23 ที่ 17.41%
ภาพรวมเห็นว่า Tencent มีสัญญาณฟื้นตัวเรื่อยๆตั้งแต่ต้นปี 2023 แล้ว ซึ่งช่วงนั้นรายได้โตเด่น Net Income ก็โตไม่แพ้กัน แต่ Q2/24 เป็นไตรมาสที่ Net Income โตขึ้นมาเป็นพระเอก เสียดายที่ Growth ไม่มารายโตแค่ 8% ยังไม่มีนัยยะมาก แต่ก็ถือว่าอยู่ในทิศทางดีถูกต้อง
Valuation - ราคาถูก ต้องรอลุ้นการเติบโต
อัตราส่วน P/E ตอนนี้อยู่ที่ 21.7 เท่า ฟื้นตัวจากจุดต่ำสุดที่แถวๆ 9 เท่า ซึ่งก็ขึ้นมาจากราคาที่เพิ่มขึ้น (แบบเงียบๆ) รับข่าวธุรกิจฟื้นตัวหลังเจอมาตรการควบคุมของรัฐบาลจีนไปเมื่อปี 2022 ซึ่งผู้บริหารหันไปใช้กลยุทธ์ลดค่าใช้จ่าย ขายธุรกิจที่ไม่ใช่ Core แล้วโฟกัสไปที่โฆษณา, Gaming และ Cloud
ราคาหุ้นตอนนี้ใกล้เคียงกับ 2 ปีที่ผ่านมา ช่วงนั้น P/E อยู่ที่ 18-19 เท่า แต่ยังต่ำกว่าช่วงพีคๆ ซึ่งไปแตะถึง 51 เท่า ราคาปัจจุบันคงยังไม่เรียกว่าแพงมาก ซึ่งปัจจัยที่จะเข้ามาหนุนกำไรโตให้ราคาไปต่อได้ยังมีอยู่ทั้งฝั่ง Gaming และโฆษณา แต่มองยังไงก็เห็นว่าราคารับข่าวการฟื้นตัวไปพอสมควรแล้ว คงไม่สามารถหวังว่าซื้อแล้วราคาจะวิ่งไปต่อรัวๆได้มากขนาดนั้น อาจจะต้องรอเวลาให้มีปัจจัยการเติบโตใหม่ และต้องเป็นปัจจัยการเติบโตที่ใหญ่พอที่จะ Move ฐานรายได้และกำไรขนาดยักษ์นี้ได้
ความเสี่ยง - รัฐบาลจีนดูดีขึ้น แต่ยังไม่ชัดเจน ตลาดจีนต้องฟื้นตัวแรง ซึ่งยังไม่เห็นสัญญาณ
ความเสี่ยงหลักมาจากความเอาแน่เอานอนไม่ได้ของรัฐบาลจีน ไม่มีใครรู้ได้เลยว่าจะใช้มาตรการควบคุมอะไรกับธุรกิจไหนอีกบ้าง และจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่?
ในส่วนธุรกิจ Tencent แม้ฝั่ง Gaming แทบจะครองเมือง แต่ก็มีคู่แข่ง เช่น NetEase หรือนอกประเทศก็มีเจ้าใหญ่มากมายจากฝั่งตะวันตก ส่วนสนามอื่นก็มีเจ้าใหญ่หรือคู่แข่งไฟแรงพร้อมแย่งตลาดเสมอ และอย่างที่รู้กันว่าธุรกิจจีนแข่งกันที เอากันถึงตายเหมือนกันนะ
และถ้าจะขยายตลาดไปต่างประเทศ ต้องยอมรับว่าทั้งภาพลักษณ์การเป็นบริษัทจีนอาจทำให้ตีตลาดยากหน่อย โดยเฉพาะกับผู้ใช้ฝั่งตะวันตกที่ไม่สะดวกใจให้ข้อมูลส่วนตัว นอกจากนี้อาจโดนมาตรการกีดกันจากรัฐบาลประเทศอื่นได้ด้วย คล้ายกรณี Tiktok ถูกบังคับขายกิจการในสหรัฐฯ
สรุป - บริษัทแข็งแกร่ง เป็นผู้นำ ราคาไม่แพง แต่ต้องเติบโตให้ได้มากกว่านี้
Tencent เป็นบริษัทที่มีธุรกิจครอบคลุมทุกอย่าง แถมมีเงินทุนพร้อม ถ้าถามว่าจะเติบโตได้อีกหรือไม่ ตอบเลยว่าได้ แต่มีความท้าทายเรื่องตลาดในประเทศจีนที่ทั้งอิ่มตัวและแข่งขันสูง ส่วนราคาก็รับข่าวการฟื้นตัวไปพอสมควรแล้ว จะออกไปต่างประเทศก็ดูไม่ใช่เรื่องง่าย ผมว่าตัวที่คาดหวังได้หลักๆน่าจะเป็นเกมส์เนี่ยแหละแต่ก็ดันไม่ค่อยโตอีก
ต่อจากนี้ต้องติดตามว่าธุรกิจที่มีอยู่จะขยายมาเพิ่มการเติบโตให้บริษัทในช่วงต่อจากนี้มากแค่ไหน ซึ่งมองว่ามีโอกาสขยายตัวได้อยู่ แต่ระยะยาวต้องติดตามการขยายตลาดไปทั่วโลก ซึ่งเป็นเรื่องที่มีความท้าทายอย่างมาก แต่ถ้าทำได้ Tencent ก็มีคลื่นการเติบโตลูกใหม่ได้เช่นกัน
สุดท้ายสิ่งที่จำเป็นน่าจะเป็นธุรกิจในจีนของ Tencent นั่นแหละที่ควรจะต้องโตดีขึ้น แต่ก็อย่างที่รู้ๆกันมันยังไม่ได้ชัดเจนขนาดนั้น เดี๋ยวโตเดี๋ยวไม่โต ก็คงต้องรอกันอีกซักพัก